Share

การถ่ายภาพทางเทคนิคกับการวิเคราะห์ภาพเขียน

Last updated: 16 Mar 2025
89 Views
การทำงานในห้องปฏิบัติการเพื่อวิเคราะห์งานศิลปะมีความเหมือนกับการทำงานในห้องห้องปฏิบัติทางวิทยาศาสตร์ทั่วไปที่ต้องมีการวางแผน การเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสม มีการวิเคราะห์ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ แต่ข้อสำคัญที่ต้องคำนึงถึงเป็นอย่างมากซึ่งอาจจากการทำงานทั่วไปคือเทคนิคทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้เพื่อการวิเคราะห์งานศิลปะต้องเป็นเทคนิคที่ไม่แตะต้องหรือทำลายงานศิลปะอันอันล้ำค่าเหล่านั้น ในกรณีที่จำเป็นต้องเก็บหรือทำลายตัวอย่างก็ต้องเก็บตัวอย่างในปริมาณที่น้อยที่สุด

หลายสาขาวิชาทั้งกลุ่มเคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยา ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการตรวจสอบงานศิลปะได้ทั้งสิ้น ทั้งภาพวาด งานประติมากรรม รวมไปถึงการวิเคราะห์วัสดุที่ใช้ในการสร้างสรรค์งานศิลปะเหล่านั้น

บทความตอนนี้อยากเล่าเกี่ยวกับเทคนิคทางภาพซึ่งเป็นการถ่ายภาพด้วยอุปกรณ์และวิธีการต่างๆ กันเพื่อให้ได้ผลของภาพที่แตกต่างกัน

ทั้งนี้การถ่ายภาพมักจะเป็นวิธีการแรกๆ ที่ใช้ในการเริ่มต้นการวิเคราะห์งานศิลปะ เนื่องจากเป็นวิธีการที่ไม่ต้องทำลายหรือแตะต้องชิ้นงานเลย และยังสามารถประยุกต์ใช้เทคนิคย่อยๆ ได้อีกหลายๆ วิธี เพื่อให้ได้ผลของภาพที่แตกต่างกัน

อย่างที่เราทราบกันว่าโดยทั่วไปแล้วการถ่ายภาพจะใช้กล้องถ่ายภาพธรรมดาหรือแม้แต่กล้องมือถือก็ได้ ภาพถ่ายธรรมดา ถ่ายภายใต้สภาวะแสงที่ตามองเห็นหรือที่เรียกว่าแสงขาว (Visible Light) คือแสงที่มีช่วงความยาวคลื่นประมาณ 400-700 นาโนเมตร ผลของการถ่ายภาพแบบนี้คือได้ภาพแบบที่ตามอง ซึ่งไม่เพียงพอสำหรับการวิเคราะห์และเก็บข้อมูลของงานศิลปะ ในห้องปฏิบัติการจึงมีการถ่ายภาพที่เรียกว่าการถ่ายภาพทางเทคนิค (Technical Photography) คือใช้กล้องถ่ายรูปที่ผ่านการดัดแปลงอธิบายง่ายๆ คือกล้องยอมให้แสงยูวีและอินฟราเรดสามารถผ่านเข้าไปในกล้องได้ นอกจากกล้องที่ต้องผ่านการดัดแปลงแล้วยังจะต้องใช้แหล่งแสง (Light sources) ที่แตกต่างไปจากแสงขาวปกติ ช่วงความยาวคลื่นแสงสำคัญที่นำมาใช้ในการวิเคราะห์งานศิลปะคือยูวี (UV, ultraviolet) และอินฟราเรด (IR, Infrared)

แสงยูวีมีความยาวคลื่นที่สั้นกว่าที่ตามนุษย์มองเห็น ความยาวคลื่นที่ประมาณ 365 นาโนเมตรเป็นช่วงที่เหมาะสมกับการใช้งาน ถ้าความยาวคลื่นสั้นไปกว่านี้มากก็ไม่ดีเพราะส่งผลอันตรายต่อผู้ใช้งาน  ด้วยหลักการที่ว่าวัตถุมีการเรืองแสงยูวีที่แตกต่างกัน มันจึงมีประโยชน์อย่างยิ่งในการเปิดเผยในกรณีที่ภาพเขียนนั้นๆ ผ่านการบูรณะซ่อมแซมมา หลายครั้งทีเมื่อเรามองภายใต้สภาวะแสงขาวปกติ ทุกอย่างดูสมบูรณ์สวยงาม แต่ภายใต้แสงยูวีอาจจะดูแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง 
หลักการที่สามารถอธิบายให้เข้าใจได้ง่ายๆ คือบริเวณที่ซ่อมแซมหรือรีทัสมาเรืองแสงยูวีไม่เท่ากับบริเวณดั้งเดิมของภาพ ผลของภาพที่ได้จึงไม่เหมือนกัน เราจึงเห็นบริเวณที่รีทัชหรือซ่อมแซมมาเป็นสีดำมากกว่าบริเวณดั้งเดิม นอกจากแสงยูวีจะช่วยตรวจสอบบริเวณที่เคยผ่านการซ่อมแซมหรือรีทัชมาก่อนหน้าแล้ว สารสี (pigments) บางตัวก็เรืองแสงยูวีอย่างมีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว ทำให้เราสามารถบอกชนิดของสารสีๆ นั้นได้ด้วยเช่นกัน
การค้นพบความจริงว่าภาพเขียนถูกซ่อมแซมหรือรีทัชมาแล้ว สำหรับนักวิทยาศาสตร์ถือเป็นข้อมูลที่สำคัญในการวิเคราะห์ต่อไปว่าวัสดุที่ใช้กับงานนั้นๆ ว่าบริเวณไหนเป็นวัสดุดั้งเดิมหรือวัสดุที่เติมลงไปในภายหลัง และข้อมูลเหล่านี้ก็เป็นประโยชน์ต่อนักอนุรักษ์งานศิลปะ

กรณีของรังสีอินฟราเรดนั้นเป็นความยาวคลื่นยาวกว่าที่ตามนุษย์มองเห็น มีประโยชน์ในการนำมาค้นหาสิ่งที่ซ่อนอยู่ใต้ชั้นสี อินฟราเรดจะเปิดเผยลายเส้นร่าง หรือลายเซ็นที่แอบซ่อนอยู่ใต้ชั้นสี วัสดุที่เป็นกราไฟท์หรือคาร์บอนตอบสนองได้ดีต่อรังสีอินฟราเรด

นอกจากการเลือกใช้แหล่งแสงที่พิเศษนอกเหนือจากแสงขาวที่ตาคนมองเห็นแล้ว การถ่ายรูปภายใต้สภาวะแสงขาวปกติแต่เปลี่ยนองศาในการให้แสงส่องลงบนวัตถุก็ให้ผลที่แตกต่างออกไปได้ เทคนิคที่นิยมมากในการวิเคราะห์ภาพเขียนคือการใช้แสงเฉียง (Raking light) ซึ่งเป็นการวางแสงเฉียงกับวัตถุ (อย่างเช่นภาพเขียน) ที่ประมาณ 5-20 องศา ภาพถ่ายแสงเฉียงจะเปิดเผยให้เห็นผิวขรุขระ หรือทีแปรงที่ชัดเจน

เวปไซด์ Ohvincent.com เคยเผยแพร่ภาพเขียนที่ชื่อว่า Farmhouse with Barn and Well ของวินเซนต์ แวน โก๊ะ ที่ถูกถ่ายด้วยเทคนิคต่างๆ ทั้งยูวี อินฟราเรด แสงเฉียง รวมถึงการเอ็กซ์เรย์ ซึ่งแต่ละเทคนิคได้เปิดเผยรายละเอียดของภาพแตกต่างกัน ซึ่งได้รวบรวมนำมาไว้ในโพสต์นี้

คราวหน้าจะเล่ารายละเอียดของแต่ละภาพที่ได้จากแต่ละเทคนิคค่ะ

"ขอบคุณภาพจาก ohvincent.com"

#วิทยาศาสตร์กับบทบาทเบื้องหลังงานศิลปะ#thesciencebehindartSee less

Related Content
Mercury Amalgam...วิธีโบราณในการตกแต่งผิวโลหะด้วยทองคำ
มาทำความรู้จักกันว่าคนโบราณมีเทคนิคในการใช้ทองคำตกแต่งผิวโลหะอย่างไร
10 Mar 2025
This website uses cookies for best user experience, to find out more you can go to our Privacy Policy and Cookies Policy
Compare product
0/4
Remove all
Compare
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy